.

Dripper Shape

Dripper "Shape"

สวัสดีค่ะ 🙏🏻 วันนี้เรามาว่าด้วยเรื่องของอุปกรณ์ Filter Bar อย่างเจ้าดริปเปอร์ ซึ่งสายดริปกาแฟหลายคนคงคุ้นเคยกันดี เพราะมีให้เห็นได้ทั่วไปตามร้านกาแฟ ซึ่ง Dripper Shape หรือรูปทรงของดริปเปอร์ ก็มีหลากหลายรูปทรงให้เลือกกันค่ะ 

The Coffeenery จึงมาแนะนำดริปเปอร์ในแบบต่างๆ ว่ามีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อที่จะได้ลองใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง เริ่มแรก เรามาทำความรู้จักกับรูปทรงของดริปเปอร์สำหรับชงกาแฟประเภทฟิลเตอร์กันค่ะ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปทรงด้วยกัน

⭐️ ทรงกรวย (Cone-Shaped)
ดริปเปอร์ทรงกรวยนี้เรียกได้เป็นรูปทรงยอดนิยมที่หลายคนชื่นชอบ หรือที่รู้จักกันในชื่อ V60 มาจากรูปตัววีที่ออกแบบมาให้ทำมุม 60 องศา ช่วยให้น้ำไหลเข้าหาศูนย์กลาง ตัวดริปเปอร์เป็นทรงกรวยที่ปลายทะลุเป็นช่องว่าง และมีแนวเกลียวอยู่ด้านใน ซึ่งจะช่วยให้น้ำไหลผ่านกาแฟได้อย่างราบรื่น ไม่เกิดสูญญากาศ แต่เนื่องจากส่วนปลายของดริปเปอร์ นี้เป็นรูใหญ่เพียงตำแหน่งเดียว ทำให้น้ำไหลผ่านลงไปค่อนข้างเร็ว แต่เราสามารถควบคุมความเร็วในการไหลของน้ำได้ด้วยปรับเปลี่ยนจังหวะการเทน้ำให้พิถีพิถันมากยิ่งขึ้น เพื่อให้น้ำสัมผัสกาแฟได้อย่างทั่วถึง และอยู่ในระยะเวลาเหมาะสม

⭐️ ทรงคางหมู (Trapezoid)
ดริปเปอร์นี้เป็นทรงกรวยเช่นกัน แต่ปลายถูกบีบให้แคบเป็นแนวเส้นตรง มีรูขนาดเล็กอยู่ที่ปลาย โดยแรกเริ่มของดริปเปอร์ทรงนี้คือแบบที่มี 1 รู อยู่ตรงกลางของ Malitta ถูกออกแบบมาจากแนวคิดพื้นฐานคือการแช่และให้น้ำค่อยๆ ซึมผ่านผงกาแฟ เพื่อให้การสกัดกาแฟในแต่ละครั้งออกมาอย่างคงที่ ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกันต่อมา Kalita ได้มีการพัฒนาโดยเพิ่มรูเป็น 3 รู โดยจำนวนรูที่เพิ่มมากขึ้นทำให้สามารถควบคุมน้ำได้ขณะชง จนได้น้ำที่ไหลผ่านออกมาอย่างสม่ำเสมอ และไม่เกิดการแช่ที่นานเกินไป เพื่อลดปัญหาในเรื่องการสกัดกาแฟที่มากเกินไป (Over-extraction)

⭐️ ทรงกระบอกหรือตระกร้า (Cylindrical, Basket)
ดริปเปอร์แบบก้นแบน หรือ Flat ด้านบนจะเป็นทรงกรวยเช่นกัน แต่ตรงก้นจะเป็นฐานแบนทรงกลม มีรู 3 ตำแหน่งใช้กับ Filter แบบ Wave Paper Filter ซึ่งข้อดีของดริปเปอร์ทรงนี้คือน้ำกาแฟจะไม่ถูกแช่ไว้นานเกินไป ลดปัญาหากาแฟถูกสกัดมากไป แต่ข้อแตกต่างกับรุ่นอื่นๆ คือด้านในของดริปเปอร์อาจไม่มีเกลียวหรือร่องน้ำที่จะช่วยเรื่องการไหลผ่านของน้ำ ดังนั้นกระดาษกรองที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับดริปเปอร์ รุ่นนี้จึงสำคัญมาก เพราะตัวกระดาษกรองเองมีริ้วคลื่นใหญ่ชัดเจน ปลายตัดเป็นฐานวงกลมรองรับกับดริปเปอร์ พอดี ซึ่งริ้วคลื่นของกระดาษกรองนี้ทำให้มีอากาศแทรกระหว่างดริปเปอร์กับกาแฟค่อนข้างมาก ทำให้น้ำไหลผ่านกาแฟได้สะดวก รวมถึงในตอนที่รินน้ำร้อนลงบนกาแฟ กระดาษกรองที่เป็นริ้วคลื่นนี้จะช่วยลดผิวสัมผัสระหว่างน้ำร้อนกับดริปเปอร์ทำให้อุณหภูมิของน้ำกาแฟไม่ถูกดูดซับไปกับตัวดริปเปอร์

แต่ถึงอย่างนั้น เจ้าอุปกรณ์อย่างดริปเปอร์ก็ไม่ได้การันตีว่ากาแฟที่สกัดออกมานั้นจะมีรสชาติดี เพราะการสกัดกาแฟในแต่ละครั้งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง ให้เรียนรู้และศึกษากันไป แต่ถ้าใครอยากเรียนรู้เทคนิคการชงกาแฟแบบต่างๆ สามารถมาเรียนรู้ร่วมกับสถาบันกาแฟ The Coffeenery ในคอร์สเรียน Standard Brewer & Advance Brewer  คอร์สเรียนที่จะได้เรียนรู้เทคนิคและวิธีการชงกาแฟ 4 รูปแบบ รวมถึงทำความเข้าใจหลักการของอุปกรณ์ที่ใช้ในการชงเพื่อให้ได้การสกัดกาแฟรสชาติดีค่ะ

Coffee Life